จำนวนผู้เข้าชม

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดนาคปรก

วัดนาคปรก
ลักษณะพื้นที่
แต่เดิมเป็นสวน มีลำคลองไหลผ่านทั้งหน้าวัดหลังวัดการคมนาคม ในอดีตใช้เรือในการไปมาหาสู่กัน ปัจจุบันลำคลองบางส่วนได้ถูกถมทำเป็นถนนทางสัญจรของประชาชนที่อยู่ละแวกใกล้วัด สภาพชมชนปัจจุบันได้กลายเป็นตึกรามบ้านช่อง เป็นชุมชนขนาดใหญ่
ที่ตั้งและอาณาเขตของวัด
ที่ตั้ง วัดนาคปรก มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔๒ ถนนเทอดไท ๔๙ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ที่ดินที่ตั้งวัดมี ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๕๐๔๓ อาณาเขต ทิศเหนือติดกันคลองวัดนาคปรก ด้านทิศตะวันออกติดกับวัดนางชี ทิศใต้ติดกับคลองบางหว้า และด้านทิศตะวันตกติดกับโรงเรียนวัดนาคปรก
ผู้สร้างวัด
ตามประวัติเล่าสืบกันว่า เมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๓-๔) มีพ่อค้าเรือสำเภาชาวจีน ชื่อ พระบริบูรณ์ธนากร (เจ้าสัวพุก แซ่ตัน)* เดินทางมาประกอบการค้าขายที่พระนคร ฝั่งธนบุรี ย่านตลาดพลู ได้ตั้งรากปักฐานเป็นครอบครัวกับภรรยาคนไทย เจ้าสัวพุก เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา มีฐานะดีพอที่จะเกื้อกูลประโยชน์แก่คนอื่น จึงได้คิดริเริ่มก่อสร้างวัดขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม กิจกรรม และศาสนกิจทางพระพุทธศาสนา อีกประการหนึ่ง เพื่อเป็นการตอบแทนคุณชาวไทยที่ทำให้การค้าขายของตนเติบโตก้าวหน้า การก่อสร้างเริ่มแรกได้สร้างโบสถ์ขึ้นก่อน พร้อมกับเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเครื่องบูชาของชาวจีนโบราณต่างๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตนเอง และสร้างวิหารมีลักษณะทรงไทยเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยา เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังลายไทยเล่าเรื่องราวการเสด็จลงจากดาวดึงส์ และเรื่องราวการชนะมารของพระพุทธเจ้า
ครั้นแล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางมารวิชัยมาจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ในวิหาร พระประธานองค์ประดิษฐานที่วิหารนั้นมีพญานาค ๗ เศียรแผ่พังพาน เป็นรูปปูนปั้น องค์พระเป็นพระปางมารวิชัยสัมฤทธิ์ ชาวบ้านจึงได้เรียกว่า “วัดนาคปรก” ตามลักษณะพระพุทธรูปที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ของวัดนี้
การพระราชทานวิสุงคามสีมา เข้าใจว่าได้รับพระราชทานมาแต่เดิมประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๑ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๘.๖๐เมตร ยาว ๕๐.๗๐ เมตร นี้ก็เป็นประวัติของวัดนาคปรก.
ประวัติพระปางนาคปรก
ประวัติความเป็นมา
ตามพุทธประวัติ ในคืนวันเพ็ญวิสาขมาส (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) นับย้อนหลังไปก่อนปีพุทธศักราชประมาณ 125 ปีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงละการทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต ในปฐมยามทรงทำลายกิเลสอย่างหยาบลงได้ ในมัชฌิมยามทรงทำลายกิเลสอย่างกลาง และในปัจฉิมยามทรงได้ทรงทำลายความมืดคือ อวิชชา อันเป็นกิเลสอย่างละเอียดลงได้ ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพร้อมทั้งอรุณขึ้นในเวลาเช้า ต่อแต่นั้นพระองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ สถานที่ 7 แห่ง สถานที่ละ 1 สัปดาห์ รวมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยเริ่มจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ก่อน ครั้นพระองค์เสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น 7 วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า “มุจลินท์” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่บังเอิญได้เกิดมีฝนตกพรำๆอยู่ไม่ขาดสายตลอด 7 วัน พญานาคมุจลินท์ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย 7 ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวล
ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงภาพเป็นมาณพน้อยยื่นทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า:-
สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺสสุตธมฺมสส ปสฺสโต อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเกปาณภูเตสุ สญฺญโมสุขา วิราคตา โลเกกามานํ สมติกฺกโมอสฺมิมานสฺส วินโยเอตํ เว ปรมํ สุขํ.
ความว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลที่มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียงซี่งอัสมินามะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี่เป็นสุขอย่างยิ่ง”
จากพระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ภายในวงขนดของพญามุจลินท์นาคราชนี้เอง จึงเป็นที่มาแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมาเรียกว่า พระปางนาคปรก ให้เราได้เคารพกราบไหว้มาจนทุกวันนี้ พระพุทธรูปประจำเกิด ของคนเกิดวันเสาร์
อนึ่งพระปางนาคปรกนี้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนที่เกิด วันเสาร์ คนที่เกิดวันนี้จึงนิยมหามากราบไหว้บูชาเพื่อเป็นศิริมงคลในชีวิตแก่ตนเองและครับครัว
ดังนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตขอเชิญสาธุชนมากราบไหว้ขอพร “หลวงพ่อนาคปรก” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหาร ข้างพระอุโบสถของวัดนาคปรกโดยทั่วกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น